สุขแบบยั่งยืนด้วยวิถีพอเพียง

จุดหมายปลายทางมหกรรมงานสร้างสุข 4 ภาค
การได้ทำงานในสิ่งที่ตัวเองรักและคนที่เราทำงานด้วยสามารถแก้ปัญหาได้จริง คือความสุขของคนสร้างสุขทุกคน นี่คือคำนิยามแห่งความสุขที่ รัตนา สมบูรณ์วิทย์ ผู้ประสานงานหลักงานสร้างสุขภาคกลาง ยึดเอาไว้เป็นแนวทางเพื่อขับเคลื่อนให้การทำงานสร้างสุข 4 สัมฤทธิ์ผลตรงตามเป้าที่วางไว้มากที่สุด
ในฐานะคนสร้างสุข ต้องยอมรับว่าการที่เราจะไปสร้างสุขให้คนอื่นนั้น มันเหมือนการไปเปลี่ยนแปลงความคิดของคนๆหนึ่ง ต้องใช้เวลานาน ฉะนั้นสิ่งแรกที่ต้องมีคือต้องเชื่อมั่นในพลังของประชาชนว่าสามารถทำได้ ถ้า 100 คน สามารถเปลี่ยนความคิดได้ซัก 10 คน ก็ถือว่าประสบความสำเร็จไปขั้นหนึ่งแล้ว
ผลลัพธ์ที่รัตนาอยากเห็นมากที่สุดคือ ชาวบ้านมีวิถีชีวิตที่ดี มีอาหารปลอดภัยไว้บริโภค มีระบบคิดและวิจารณญาณที่จะเชื่อบนพื้นฐานวิชาการที่มีเหตุผล สามารถพึ่งพาตัวเองได้ จนสามารถกำหนดเองได้ว่าเราจะสร้างสุขหรือสร้างทุกข์ให้ตัวเองได้อย่างไรบ้าง
สอดคล้องกับสุพจน์ สงวนกิตติพันธุ์ ผู้ประสานงานหลักการจัดงานสร้างสุขภาคใต้ ที่เห็นว่าการขับเคลื่อนกระบงนการสร้างสุขให้สำเร็จจำเป็นต้องนำหลักวิถีพอเพียงเข้าช่วย เพราะเรื่องดังกล่าวไม่ใช่เรื่องไกลเกินฝันเพราะมันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงจากวิถีวัฒนธรรมของชุมชนนั่นๆ
งานสร้างสุขภาคใต้ปีนี้จึงมีการนำเสนอ วิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชุมชน ไทยพุทธ ไทยมุสลิม และไทยจีน ซึ่งยึดหลักวิถีพอเพียงเป็นหลักในการดำเนินชีวิตมาโดยตลอด จนหลายคนอาจสงสัยว่าขณะที่กระแสการท่องเที่ยวกำลังได้รับความนิยม แล้วทำไมชุมชนทั้ง 3 ยังใช้ชีวิตตามวิถีวัฒนธรรมพอเพียงอยู่ได้อย่างไร ในงานสร้างสุขภาคใต้มีคำตอบครับ สุพจน์ กล่าว
ในส่วนภาคเหนือก็ไม่น้อยหน้า งานนี้ สุวิทย์ สมบัติ ประธานกรรมการฝ่ายจัดการงานมหกรรมสร้างสุขภาคเหนือ แอบกระซิบมาว่าปีนี้ได้นำเอาวิถีชีวิตของชาวมปีซึ่งเป็นชุมชนหนึ่งที่มีรูปธรรมในเชิงสุขภาวะองค์รวมที่เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจพอเพียงมายาวนานหลายปี
ความน่าสนใจของชาวมปีอีกจุดหนึ่งคือ ชาวมปี พูดภาษามปีมาเป็นเวลาหลายร้อยปี โดยไม่มีอักษรใช้เป็นของตัวเอง ประเพณีฝังศพก็เช่นกันเพิ่งจะยกเลิกไปเมื่อประมาณ 20 ปีมานี้ ซึ่ง บริเวณฝังศพจะจัดเรียงไว้เป็นสกุล ๆ ไป แถวสกุลไม่ปะปนกัน แล้วมีไม้ไขว้ไว้สามช่วงบนหลุม เป็นเครื่องหมายให้รู้ว่าเป็นหลุมศพ เหล่านี้ล้วนเป็นตัวอย่างความพอเพียงที่แฝงอยู่ในรูปวิถีประเพณีท้องถิ่นนำมาซึ่งความสุข ที่มีค่าสำหรับตนเอง และสังคม โดยทุกๆชุมชนสามารถนำหลักการดำเนินชีวิตของชาวมปี เอากลับไปเป็นต้นแบบเพื่อพัฒนาชุมชนให้เกิดความสุขที่ยั่งยืนได้
ด้าน ทรรศตวรรณ เดชมาลา หัวหน้าฝ่ายประชาสัมพันธ์โรงพยาบาลมหาสารคาม ในฐานะตัวแทนเครือข่ายสร้างสุขภาคอีสานให้ความเห็นว่า เมื่อคนในพื้นที่มีความสุขแล้ว วิธีที่จะทำให้ความสุขนั้นยั่งยืน จำเป็นต้องมีการถอดบทเรียน แล้วเผยแพร่ไปให้ชุมชนอื่นรับรู้ เพื่อยกย่องให้เป็นต้นแบบ จากนั้นจำเป็นต้องมีการขยายเครือข่ายและหาภาคีร่วม เพื่อเสริมพลังให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็ง มีศักยภาพในการคิดแก้ปัญหาและกลายเป็นชุมชนที่สามารถพึ่งตนเองได้ในที่สุด
และนี่คือเสียงสะท้อนจากกลุ่มคนเบื้องหลังความสุขทั้ง 4 ภาค ที่แม้ว่าวิธีการถึงฝั่งฝันของแต่ละภาคจะต่างกัน แต่สุดท้ายแล้วหัวอกคนทำงานสร้างสุขทุกคนก็อยากจะเห็นสิ่งๆหนึ่งที่เหมือนกัน นั่นคือ อยากเห็นคนไทยมีความสุข และความสุขที่เกิดขึ้นต้องคงอยู่กับคนไทยอย่างยั่งยืนตลอดไป

ที่มา
โดย : จุฑารัตน์ สมจริง Team Content www.thaihealth.or.th
ข้อมูลจาก : Team Content www.thaihealth.or.th
ภาพประกอบ : www.thaihealth.or.th