Set as your home page  |  Bookmark                                                                                     Welcome to fristweb!   Join Now  |  Sign In  |  Build Site  |  Mail  |  Training

ไทย 简体中文 繁體中文 English 日本語 한국어 Tiếng Việt Deutsch Français Italiano Español Русско Portuguese
ที่บ้าน บริษัท ผลิตภัณฑ์ ข่าวสาร งาน และ อาชีพ คนหางาน คนขายของ ซื้อของ ตัวแทน ดำเนินการ การประสานงาน การฝึก

ยลโฉมหุ่นยนต์"รู้สึกได้"ฝีมือMIT

เวลา: 2007-06-12 มูลฐาน: ผู้จัดการออนไลน์

ยลโฉมหุ่นยนต์"รู้สึกได้"ฝีมือMIT

       หนึ่งในคลังสมบัติของศูนย์ปฏิบัติการวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์และปัญญาประดิษฐ์หรือ Computer Science and Artificial Intelligence Laboratory (CSAIL) แห่งสถาบันเทคโนโลยีแมสสาชูเซ็ตหรือ Massachusetts Institute of Technology (MIT) ที่ฉายแววโดดเด่นมากที่สุดในขณะนี้มีนามว่า Domo เป็นหุ่นยนต์ที่สามารถตอบสนองต่อเสียงมนุษย์ มีเทคโนโลยีวิเคราะห์ใบหน้า และที่สำคัญคือสามารถ"รู้สึก"ได้ว่ากำลังสัมผัสสิ่งใดอยู่
      
      
Domo นั้นถูกพัฒนาขึ้นโดยแอรอน เอ็ดซิงเกอร์ (Aaron Edsinger) สมาชิกในกลุ่มพัฒนาหุ่นยนต์เสมือนมนุษย์ Humanoid Robotics Group ในเครือ CSAIL ใช้เวลาในการพัฒนาราว 3 ปี สามารถเรียก Domo ได้ว่าเป็นผลลัพท์ของการผสมผสานระหว่างหุ่นยนต์ชื่อก้อง 2 ตัวที่ MIT พัฒนาขึ้นคือ Cog และ Kismet
      
       Cog นั้นถูกสร้างเพื่อเลียนแบบการเคลื่อนไหวศีรษะ คอ แขน และมือของมนุษย์ ขณะที่ Kismet ถูกสร้างมาเพื่อการโต้ตอบกับมนุษย์ในระดับการสื่อสารอารมณ์ การรวมคุณสมบัติเด่นของหุ่นยนต์ทั้งสองตัวนี้ลงใน Domo ทำให้ Domo กลายเป็นดาวรุ่งในวงการหุ่นยนต์เสมือนมนุษย์อีกหนึ่งดวง โดยชื่อของ Domo นั้นมีที่มาจากวลี Domo Arigato, Mr. Roboto เนื้อเพลง Styx ภาษาญี่ปุ่นซึ่งมีความหมายว่าขอบคุณมากนะ คุณหุ่นยนต์
      
       ดวงตาของ Domo นั้นฝังกล้องดิจิตอลทั้งสองข้าง คุณสมบัติเด่นคือการตรวจจับใบหน้ามนุษย์แล้วมองตาม คุณสมบัตินี้นำไปประยุกต์ให้ Domo สามารถตามหาสิ่งของและเก็บขึ้นมาได้ โดยรายงานจากซีเน็ตระบุว่า จากการสาธิต เมื่อ Domo เคลื่อนที่แขนไปสัมผัสโดนสิ่งของใด Domo จะก้มลงมองว่ากำลังสัมผัสโดนอะไรอยู่ จากนั้นก็จะเงยหน้าขึ้นมองมนุษย์ เพื่อรอดูว่าจะได้รับคำสั่งอะไร เนื่องจาก Domo นั้นสามารถตอบสนองคำสั่งเสียงได้

      หนึ่งในเคล็ดลับที่ทำให้ Domo สามารถมีประสาทสัมผัสที่น่าทึ่งเช่นนี้คือการใช้เทคโนโลยีเดียวกับหุ่นยนต์มือ Obrero ผลงานการพัฒนาของ Eduardo Torres-Java สมาชิกกลุ่ม Humanoid Robotics Group ในเครือ CSAIL ที่นอกจากจะสามารถรับรู้สัมผัสแล้วยังสามารถหยิบจับสิ่งของได้ทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นสิ่งของบอบบางอย่างไข่ไก่
      
      
เทคนิคของ Obrero คือการเลียนแบบลายนิ้วมือมนุษย์ลงบน 2 นิ้วมือและนิ้วหัวแม่โป้งของ Obrero ทั้ง 3 นิ้วของ Obrero จะทำด้วยวัสดุยางที่มีลายวงรีคล้ายลายนิ้วมือ ซึ่งจะทำให้วัตถุที่อยู่บนมือหุ่นยนต์ไม่ตกหล่น จากนั้น Obrero จะคำนวณว่าจะต้องใช้แรงหรือการประคองวัตถุนั้นอย่างไรโดยอิงจากน้ำหนักที่คำนวณได้ และหากหุ่นยนต์รับรู้ว่าน้ำหนักวัตถุในมือเปลี่ยนแปลงไป เช่น เมื่อมีผู้นำสิ่งของออกไปหรือนำมาใส่ไว้ในมือ Obrero จะรับรู้และเตรียมพร้อมที่จะเดินหรือหยุดเพื่อรอรับคำสั่งต่อไป
      
       Torres-Java กล่าวถึงความสำเร็จในการสร้าง Obrero ให้สามารถหยิบจับไข่ไก่หรือสิ่งของบอบบางได้โดยไม่หล่นหรือแตกว่า นักพัฒนาหลายคนให้ความสำคัญเฉพาะเรื่องการมองเห็น แต่จากการศึกษาพบว่ามนุษย์นั้นไม่ได้ใช้ประสาทตาเพื่อการรับรู้ทั้งหมด 100 เปอร์เซ็นต์ แต่จะใช้ประสาทสัมผัสร่วมด้วย แนวคิดนี้จึงเป็นแรงบันดาลใจในการพัฒนาให้ Obrero ใช้การตอบสนองจากการสัมผัสแทนการมองตำแหน่งของวัตถุเพียงอย่างเดียว
      
      
สำหรับชื่อ Obrero นั้นเป็นภาษาสเปนแปลว่า "worker" หรือผู้ทำงาน หากแปลงเป็นภาษาเช็คช์ (Czech) สามารถเขียนได้ว่า "robota" ซึ่งมีความหมายว่าหุ่นยนต์นั่นเอง
      

       
   Company Related Links :
       
MIT

 



อ้างอิงจาก : ผู้จัดการออนไลน์

 

 

Copyright © 2000 - 2009 บริษัท เนทเวอร์คกิ้ง เทคโนโลยี (ไทยแลนด์) จำกัด All Rights Reserved.